P/E คืออะไร? หุ้น P/E เท่าไหร่ดี?
P/E คือหนึ่งในค่าปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการคัดสรรหุ้นดี ๆ สักตัวเข้าพอร์ต โดยเฉพาะหากเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) ที่จะพิจารณาหุ้นจากปัจจัยพื้นฐาน เพื่อประเมินว่าหุ้นตัวนั้นมีศักยภาพที่เพียงพอต่อการทำกำไรในช่วงอนาคตที่ต้องการหรือไม่ด้วยสูตรการคำนวณ P/E หรือ Price to Earning ซึ่งเป็นการหาอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น โดยมองจากพื้นฐานว่า “ถ้าราคาหุ้นยังเท่าเดิม จะคืนทุนในกี่ปี” โดยอิงจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น ๆ ในแง่มุมต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อราคาของหุ้น
ในบทความวันนี้ เราขออาสาพาคุณไปดูว่า ถ้าคุณคิดจะถือหุ้นดี ๆ ที่น่าสนใจสักตัวหนึ่งเพื่อทำกำไรในระยะยาว นอกจากการคำนวณค่า P/E Ratio เป็นแล้ว มีอะไรที่ซ่อนอยู่ในค่าตัวเลขที่คำนวณออกมาได้บ้าง เพื่อที่จะรู้ได้ว่าค่า P/E ที่เหมาะสมนั้นควรเป็นเท่าไร และถ้าคุณไม่ใช่สาย VI คุณจะสามารถเทรด CFD หุ้นกับ MiTrade ได้อย่างไรโดยอาศัยความรู้จากการคำนวณ P/E Ratio นี้
- P/E Ratio คืออัตราส่วนกำไรต่อหุ้น หมายความว่า หากราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง แล้วซื้อในวันนี้ด้วยราคาเท่านี้ อีกกี่ปีถึงคืนทุน
- แม้ P/E Ratio จะบอกการประมาณการคืนทุนได้ แต่ยังต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ มาพิจารราร่วมในการเฟ้นหาหุ้นดี ๆ สักตัว
- ปัจจัยพื้นฐานควรคำนึงร่วมกับการคำนวณ P/E Ratio คือ สภาพเศรษฐกิจ สภาพตลาด วิเคราะห์คู่แข่ง เพื่อประเมินศักยภาพการสร้างกำไร
- ไม่ว่าจะเป็น VI สายถือหุ้นยาว รับเงินปันผล หรือสายเทรดสร้างกำไรจากการถือครองระยะสั้น การรู้จักวิธีคำนวณ P/E Ratio และรู้ความหมายของมัน ย่อมส่งผลดีต่อการวางแผนการเงิน และการเทรดอย่างแน่นอน
P/E Ratio คืออะไร
สูตรนี้เป็นค่าสัดส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) โดยอยู่ในกลุ่มที่เป็นตัวชี้วัดมูลค่าของบริษัท โดยตัวเลขที่ได้จะสามารถนำไปเปรียบเทียบกับตัวเลขในปีก่อน และตัวเลขของบริษัทอื่นในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เพื่อให้ระบุได้ว่าหุ้นที่กำลังพิจารณาอยู่ในเบื้องต้นมีราคาถูกหรือแพง
การอ่านค่า P/E แล้วบอกว่าถูกหรือแพง เกิดจากที่มาในการคำนวณ
P คือ ราคา (Price) หุ้นสามัญที่ขายในตลาดหลักทรัพย์
E คือ กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning Per Share) คำนวณจากกำไรหลังหักภาษีโดยเฉลี่ยต่อหุ้น ซึ่งกำไรสุทธิต่อหุ้น คือมูลค่าที่เป็นไปได้ของเงินปันผลที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นต่อปี กรณีที่กำไรสุทธิต่อหุ้นไม่ได้ถูกนำไปลงทุนเพิ่ม หรือหากมีการนำเงินกลับไปลงทุน แต่ไม่มีการชำระเงินปันผล บริษัทจะเติบโตเบื้องต้นด้วยมูลค่าเงินที่กลับไปลงทุน เป็นการได้รับผลตอบแทนทางอ้อมสำหรับผู้ถือหุ้น โดยจะเห็นผลในระยะยาวเป็นราคาหุ้นที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ถ้าการลงทุนของบริษัทเป็นไปในทิศทางที่ดี
ในสูตรคำนวณหา P/E Ratio เหมือนกับการดูว่าจ่ายเงินค่าหุ้นไปแล้ว นานเพียงใดจะคืนทุน สมมติว่าถ้ามีการจ่ายเงินปันผลทุกปี ค่าที่คำนวณได้ที่ต่ำ แสดงว่าการคืนทุนรวดเร็ว และจากนั้นคือทำกำไรให้ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นหุ้นถูก ขณะที่ค่าที่คำนวณได้สูง แสดงว่าต้องใช้เวลาคืนทุนนาน เพราะปกติเงินปันผลจะจ่ายปีละครั้ง (กรณีที่ไม่ได้นำเงินกำไรสุทธิไปลงทุนเพิ่ม)
วิธีคำนวณ P/E ในการเลือกหุ้น
เมื่อถามว่า P/E คืออะไร การตอบคำถามจำต้องพิจารณาสูตรคำนวณ
สูตรคำนวณ P/E = ราคาปิดของหุ้นในวันปิดงบบัญชี / กำไรสุทธิต่อหุ้น
โดย กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) = กำไรสุทธิหลังหักภาษี/จำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียน
การใช้ค่าสัดส่วนทางการเงินอย่าง P/E เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) ซึ่งอ้างอิงตัวเลขในงบการเงินของบริษัท โดยค่า EPS ต้องอ้างอิงจากงบกำไรขาดทุน ขณะที่ข้อมูลจำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนและราคาปิดของหุ้นในวันปิดงบบัญชีประจำปีสามารถหาได้จากรายงานประจำปี (Annual Report) หรือ หน้าเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทเอง
ในการคำนวณดำเนินการเป็นลำดับขั้น ดังต่อไปนี้
- หาค่ากำไรสุทธิหลังหักภาษีของบริษัท
- หาจำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนที่ชำระแล้ว (หุ้นที่ออกและถือโดยนักลงทุนผ่านการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์)
- คำนวณหากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)
- หาราคาปิดของหุ้นในวันปิดงบบัญชี หรือวันที่ตลาดเปิดทำการวันสุดท้ายก่อนปิดงบบัญชี
- นำตัวเลขที่ได้ มาเข้าสูตร P/E = ราคาปิดของหุ้นในวันปิดงบบัญชี / กำไรสุทธิต่อหุ้น
ตัวอย่างเช่น หุ้นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ตัวย่อ: CPF) เมื่อต้องการเข้าซื้อในปี พ.ศ. 2565 ให้ทำการดาวน์โหลดรายงานประจำปี ของปี พ.ศ. 2564 หรือตรวจสอบกับเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำข้อมูลมาคำนวณตามลำดับ ดังนี้
- กำไรสุทธิหลังหักภาษีของบริษัทในปี 2564 เท่ากับ 13,028.26 ล้านบาท
- จำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนที่ชำระแล้ว (หุ้นที่ออกและถือโดยนักลงทุนผ่านการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) เท่ากับ 8,611,242,385 หุ้น
- EPS = 1.5129
- ราคาปิด 25.50 (ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564)
- P/E ของ CPF = 25.50/1.5129 = 16.855
ตัวเลขสรุป P/E นี้ ปกติทางบริษัทจะนำเสนอเอาไว้แล้วในรายงานทางการเงิน เพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน
การวิเคราะห์และตีความ P/E
การใช้งานค่าที่ได้จาก P/E ถ้ามาจากบริษัทเดียวกันระหว่างปี เช่น หุ้น CPF มีค่า P/E ในสิ้นปี พ.ศ. 2563 เท่ากับ 9.53 และปี พ.ศ. 2562 เท่ากับ 14.69 จะทำให้เทียบได้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2563 หุ้นดูเหมือนถูกลงเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562 และหุ้นปี พ.ศ. 2563 ถูกกว่าในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งมองโลกในแง่ดี อาจสืบเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น ความต้องการสินค้าและบริการของบริษัทที่เพิ่มขึ้น การทำกิจกรรมส่งเสริมการขายของบริษัทที่มีผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น การลดต้นทุนดำเนินการลง หรือการเพิ่มราคาสินค้าขึ้น ซึ่งที่สุดแล้วจะทำให้กำไรสุทธิหลังหักภาษีเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้กำไรสุทธิต่อหุ้นเพิ่มตาม เมื่อไม่มีการจดทะเบียนและเพิ่มทุนหุ้นสามัญเพิ่มเติม (สรุป คือ ค่า EPS เพิ่มขึ้น ทำให้ P/E ต่ำลง)
กรณีหุ้น CPF ที่เป็นตัวอย่าง นักลงทุนควรพิจารณาการปรับเปลี่ยนของราคาหุ้นร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นจะมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะจากสูตรของ P/E ปัจจัยราคาหุ้นสัมพันธ์กับการบอกว่าหุ้นถูกหรือแพงอย่างมาก ถ้าราคาหุ้นหนึ่งหน่วยพุ่งสูงไปหลายเท่าของเงินกำไรสุทธิต่อหน่วย (เงินกำไรสุทธิต่อหน่วย = เงินปันผลที่เป็นไปได้) การแพงขึ้นของราคาก็อาจไม่อ้างอิงมูลค่าที่แท้จริง และควรหลีกเลี่ยงในการซื้อ นักลงทุนเรียกสรุปเหตุการณ์นี้ว่าพบ “หุ้นแพง”
วิธีวิเคราะห์หุ้น กรณีของหุ้นมีราคาถูกนั้น นักลงทุนจะมั่นใจว่าหุ้นถูกลงจริง ๆ เมื่อพิจารณาข้อมูลเปรียบเทียบจากบริษัทเดียวกันย้อนหลัง
- ถ้า EPS เพิ่มสูง แล้วราคาหุ้นไม่เพิ่ม หุ้นถูกของแท้ แสดงแนวโน้มว่าบริษัทบริหารงานโดยมียอดขายเพิ่มขึ้น และเกิดการเติบโตของทุนอย่างต่อเนื่อง
- ถ้า EPS เพิ่มสูง แล้วราคาหุ้นเพิ่ม ตลาดรับรู้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้น โอกาสทำกำไรจากราคาหุ้นปรับเปลี่ยนในระยะยาวลดลง
- ถ้า EPS เพิ่มสูง แล้วราคาหุ้นลดต่ำลง บริษัทอาจมี EPS เพิ่มด้วยกระแสเงินสดจากการกู้ ซึ่งโครงการลงทุนอาจมีความไม่แน่นอน หรือความเสี่ยงสูง นักลงทุนจึงลดการซื้อลง เพื่อรอดูสถานการณ์ดำเนินงานในไตรมาสต่อ ๆ ไป เป็นช่วงที่ไม่ควรซื้อหุ้นนั้น ๆ หรือถ้านักลงทุนมั่นใจว่าโครงการลงทุนของบริษัทในอนาคตจะประสบความสำเร็จ ก็สามารถซื้อในช่วงนี้ได้ แต่ต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินใจอย่างรอบคอบ
- ถ้า EPS ลดลง แล้วราคาหุ้นลดต่ำลง บริษัทมีผลการดำเนินงานไม่น่าประทับใจ และทัศนคติสาธารณะต่อบริษัทไม่ค่อยดี และในบางกรณี บริษัทอาจอยู่ในสภาวะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ แม้ตัวเลขจะทำให้ดูเหมือนเป็นหุ้นที่ถูก แต่่จริง ๆ แล้วไม่ควรลงทุนอย่างยิ่ง
- ถ้า EPS ลดลง แล้วราคาหุ้นเพิ่ม แสดงถึงการชำระเงินสำหรับลงทุนครั้งสำคัญซึ่งสาธารณชนคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนกลับคืนมาสูง หรือเกิดการชำระเงินเพื่อควบรวมกิจการซึ่งทำให้หน่วยธุรกิจเข้มแข็ง เหมาะกับการซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น
- ถ้า EPS ลดลง แล้วราคาหุ้นคงที่ แสดงถึงการเผชิญกับปัญหาทางการตลาด หรือสภาพการเมือง เศรษฐกิจสังคมที่เข้ามากระทบการดำเนินงานของบริษัท ในระยะยาวจะต้องติดตามผลต่อ ถ้าบริษัทไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ ราคาหุ้นจะปรับลดลงในปีต่อไป ตามการเติบโตของ EPS ที่ลดลง
จากการตีความค่า EPS ร่วมกับราคาหุ้น สรุปความได้ว่า หุ้นถูก คือ EPS เพิ่มสูงเป็นสัดส่วนที่มากกว่าราคา ซึ่งโดยปกติแล้ว หุ้นที่มี P/E ที่สูง จะดึงความสนใจของตลาดไปพิจารณาและมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในหุ้นตัวดังกล่าว เพราะทุกคนคิดเหมือนกันว่า มูลค่าที่ซื้อขายยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และเป็นโอกาสทำกำไร ซื้อได้ถูกเพื่อจะขายตอนแพง ผลจากพฤติกรรมของนักลงทุน ราคาของหุ้นจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนกระทั่งเข้าใกล้ค่า EPS ซึ่งถ้าราคาหุ้นกับ EPS เท่ากันจะเป็นจุด Break-Even Point หรือจุดคุ้มทุนของนักลงทุน
กรณีตัวอย่าง บริษัท CPF พอพิจารณาที่ราคาหุ้น ปี พ.ศ. 2562 – 2564
- ราคาหุ้น ปี พ.ศ. 2562 คือ 27.50
- ราคาหุ้น ปี พ.ศ. 2563 คือ 26.75 (ลดลงจากปีก่อน 2.73%)
- ราคาหุ้น ปี พ.ศ. 2564 คือ 25.50 (ลดลงจากปีก่อน 4.67%)
ส่วนค่า EPS ที่พิจารณาอยู่ในปี พ.ศ. 2565
- ค่า EPS ของปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 3.14
- ค่า EPS ของปี พ.ศ. 2564 อยู่ที่ 1.56 (ลดลงจากปีก่อน 50.32%)
กรณีของ CPF มีราคาหุ้นลดลง ขณะที่ EPS ก็ลดลงด้วย ดูแล้วไม่เหมาะในการลงทุนช่วง พ.ศ. 2565 ซึ่งนักลงทุนควรจะเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบการตัดสินใจด้วย ไม่ควรปล่อยให้ค่าสัดส่วนทางการเงินมาเป็นตัวบอกว่าต้องซื้อหรือไม่ ค่าสัดส่วนทางการเงินจะให้ค่าตัวเลขที่เหมือนกับคำแนะนำเพื่อกระตุ้นให้ตรวจสอบข้อมูล
เมื่อตรวจสอบข้อมูล พบว่าบริษัทมีการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดรายจ่ายที่มีมูลค่าสูง และทำให้ EPS ลดลงอย่างมาก (ลดลงจากปีก่อน 50.32%) ขณะเดียวกันราคาหุ้นที่ลดลง จริง ๆ ถือว่าลดลงไปไม่มากนัก เพียง 4.67% พอเทียบกันแบบนี้แล้ว เห็นชัดว่า EPS ลดลงเป็นสัดส่วนที่มากกว่าราคา โดย EPS ลดลงถึง 0.50% ด้วยเหตุน่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่การผลิตกากถั่วเหลือง ข้าวโพด และเนื้อสัตว์ที่เป็นธุรกิจหลักของ CPF มีต้นทุนที่สูงขึ้น
เมื่อ CPF ไม่ได้มี EPS เพิ่มสูงเป็นสัดส่วนที่มากกว่าราคา แต่กลับมี EPS ลดลงเป็นสัดส่วนมากกว่าราคา แสดงว่าค่า P/E ในปี พ.ศ. 2564 บ่งชี้ว่าหุ้น CPF ไม่ได้อยู่ในกลุ่มหุ้นถูก ตามวัตถุประสงค์ที่ใช้ P/E เป็นเครื่องชี้วัด หากจะลงทุนใน CPF นักลงทุนควรมีเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจที่ไม่ใช่หุ้นถูก โดยอาจใช้ค่าสัดส่วนอื่น ๆ ทางการเงินตรวจสอบความสามารถในการทำกำไรและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ประเภทของค่าสัดส่วนทางการเงินอื่น ๆ ที่เป็นการพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) ได้แก่อะไรบ้าง
- ประเภทความสามารถในการทำกำไร (Profitability Ratios)
- ประเภทวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity Ratios)
- ประเภทแสดงประสิทธิภาพทางการเงิน/การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Efficiency Ratios)
- ประเภทวิเคราะห์นโยบายทางการเงิน (Leverage Ratio or Financial Ratios)
- ประเภทวิเคราะห์มูลค่าที่แท้จริง (Valuation Ratios)
การแบ่งประเภทนั้นขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่นำมาใช้แบ่ง หนังสือด้านการเงินต่าง ๆ จึงอาจแบ่งประเภทไว้มากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ ตามแต่เห็นสมควร เป็นดุลยพินิจของนักวิเคราะห์ นอกจากนี้สูตรในการคำนวณยังขึ้นอยู่กับแนวคิดในการแปลค่าเพื่ออธิบายสถานการณ์ บางครั้งใช้ข้อมูลหนึ่งปี บางครั้งใช้ข้อมูลมากกว่าหนึ่งปีเพื่อหาค่าเฉลี่ย หาหาข้อมูลทางเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ต้องเลือกสูตรให้ดีจากการนำเสนอการตีความหมายประกอบ เพื่อให้ตอบจุดประสงค์การแปลความสัดส่วนทางการเงินของนักลงทุนเอง คือทำให้มั่นใจและสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น
สแกนหาหุ้นด้วย P/E Ratio เมื่อสนใจเทรด CFD อย่างไร
ข้อมูลทางการเงินของบริษัทจะมีการนำเสนอค่า P/E Ratio มาไว้ให้อยู่แล้ว สามารถเจอตัวเลขนี้ในรายงานประจำปี หรือเมื่อเข้าเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้ แล้วกรอกตัวย่อของชื่อหุ้น นักลงทุนก็สามารถพบกับข้อมูลทางการเงินให้ดาวน์โหลดหรือตรวจสอบได้ ซึ่งควรจะต้องดูให้ดีสำหรับชื่อย่อที่กรอก เพราะว่าบางบริษัทอาจกำหนดชื่อย่อที่ไปคนละแนวกับชื่อจริง เพราะชื่อมีตัวอักษรที่ซ้ำกับบริษัทอื่นที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ก่อนหน้า
นอกจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ผ่านโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ รูปแบบการลงทุนในหุ้นยังสามารถทำได้ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวอื่น เช่นการซื้อขายออฟชั่นที่เป็นการป้องกันความเสี่ยงโดยทำการประกันราคาขาย โดยทางเจ้าของหุ้นสามารถได้รับค่าพรีเมี่ยมไว้ก่อนจากผู้ซื้อประกันคือออฟชั่น ซึ่งกรณีที่ผู้ประสงค์จะซื้อหุ้นเก็งราคาผิดพลาด ด้วยสัญญาออฟชั่นประกันราคาไว้ก่อน หากราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่าที่คาดการณ์ของผู้ประสงค์ซื้อ ทางเจ้าของหุ้นไม่ต้องสูญเสียหุ้นไปสืบเนื่องจากราคาที่ตกลงกันสูงกว่าตลาด ทางผู้รับซื้อจะไปซื้อจากตลาดแทน ไม่ใช่สิทธิประกันราคา
นอกจากหุ้นและออฟชั่น ในส่วนของผู้ที่อยากเริ่มต้นลงทุนอย่างง่าย และใช้เงินน้อย อีกทั้งต้องการผลตอบแทนในการลงทุนเป็นสัดส่วนที่สูงจากส่วนต่างของราคาโดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ได้ดี คือ Contract for Difference (CFD) หรือสัญญาส่วนต่างของราคา ที่เป็นการเก็งกำไรที่ราคาของหุ้นว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยใช้ความรู้จากการวิเคราะห์กราฟ (การวิเคราะห์ทางเทคนิค) เข้ามาช่วยในการตัดสินใจ
P/E Ratio จะช่วยในการคาดการณ์สำหรับระยะยาว เมื่อต้องการลงทุนเทรด CFD สามารถใช้ P/E ในการคาดการณ์การปรับเปลี่ยนของราคาได้ โดยหุ้นที่ถูกมองว่าถูก เพราะมีค่า P/E Ratio ที่ต่ำ หรือ EPS สูง ในอนาคตจะได้รับการเสนอซื้อทีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เท่ากับว่าการถือหุ้นไว้นาน ๆ ตั้งแต่จับได้ว่าหุ้นถูก จะได้รับส่วนต่างของราคาที่สูงเป็นกำไรในท้ายที่สุด
1. ขั้นตอนแสกนหุ้นด้วย P/E Ratio
คุณควรตรวจสอบกลุ่มสินทรัพย์อ้างอิงสำหรับ CFD ของ CFD Broker ที่เปิดบัญชีอยู่ หรือสนใจเปิดบัญชี ว่ารายการหุ้นที่มีให้เลือกอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ใด และนำรายชื่อไปเสิร์ชหาข้อมูลสรุปทางการเงิน หรืองบการเงินเพื่อศึกษาดู ปกติแล้วบริษัทที่จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ล้วนถูกบังคับให้ส่งรายงานการเงินประจำปี และมักจะจัดทำเป็นภาษาอังกฤษเพื่อประโยชน์ในการระดมทุน จึงสะดวกต่อการหาข้อมูล
หลังจากพบหุ้นที่ค่า P/E ต่ำ ให้ลองเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับการปรับเปลี่ยนของราคา และชี้หุ้นที่คิดว่าน่าลงทุน จากนั้นคุณควรลองคำนวณหา Margin เพื่อเผื่อเงินไว้ให้พอเพียงสำหรับรับการปรับขึ้นหรือลงของราคา โดยมูลค่า Margin เป็นมูลค่าที่โบรกเกอร์เรียกเก็บเป็นประกันไว้ กรณีที่มีการใช้ Margin คุณจะเหลือมูลค่าของเงินทุนในบัญชีต่ำกว่าระดับ Margin ที่วางประกันไว้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะโดน Stop Loss คือการปิดบัญชีเพราะมีผลขาดทุนอัตโนมัติ
2. ซื้อขายหุ้นกับ MiTrade
ทาง MiTrade ปัจจุบันอ้างอิงราคาหุ้น 230 ตัวจากตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา และหุ้น 6 ตัวจากตลาดหลักทรัพย์ในออสเตรเลีย โดยการคำนวณ Margin ของทาง Mitrade จะเรียกเก็บ 50% ของมูลค่าหุ้นที่ทำการเทรด
Margin = ราคาเปิดของหุ้น x 10,000 หุ้น x 50%
โดย Contract Size เท่ากับ 10,000 หุ้น ต่อ 1 Lot สำหรับการเทรดหุ้นที่ MiTrade
สูตรด้านบนนี้อ้างอิงจากเอกสารที่เปิดเผยรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ CFD ซึ่ง MiTrade มีให้บริการแก่ลูกค้า หากต้องการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้พลาดรายละเอียดซึ่งอาจจะแตกต่างจากโบรกเกอร์อื่น สามารถไปที่ Link เพื่อดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ https://www.mitrade.com/docs/Mitrade_ProductDisclosureStatement-en-US-ASIC.pdf
ราคาเปิดของหุ้นสามารถตรวจสอบได้ที่หน้าเว็บไซต์ของ MiTrade และเมื่อคุณคำนวณทุนที่ใช้เทรดว่าเหมาะสมแล้ว มีการเผื่อสำหรับค่า Margin ไว้ด้วย สามารถเปิดบัญชีและทำการซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว ขั้นตอนการสมัครและอนุมัติเป็นมิตร สิ่งที่ MiTrade แตกต่างจากทางโบรกเกอร์เจ้าอื่นคือไม่ได้มีการแบ่งประเภทบัญชี
นักลงทุนต้องมีเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชีที่ $50 เหรียญ โดยคุณจะต้องใช้บัญชีธนาคารของตนเองในการโอนเงินเข้า เนื่องจากการโอนเงินที่ทำกำไรได้จะอนุญาตให้โอนเข้าบัญชีธนาคารที่มีชื่อเดียวกันกับบัญชีการซื้อขายเก็งกำไร CFD เท่านั้น โดยผู้มีถิ่นพำนักในประเทศไทย ไม่สามารถใช้การหักผ่านบัตรเครดิตเพื่อชำระเงินเป็นทุนเข้าบัญชีได้
การฝากและถอนที่ MiTrade รวดเร็ว ส่วนใหญ่แล้วการฝาก เงินจะเข้าทันที แต่การถอนจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง
3. เทรดทำกำไรระยะสั้นด้วย CFD จากค่า P/E
รูปแบบการลงทุนของนักเทรด CFD มักจะเน้นการเก็งกำไรมากกว่าการเทรดระยะยาว ดังนั้น P/E Ratio ซึ่งเป็นค่าสัดส่วนทางการเงินที่ใช้กันในหมู่นักลงทุนเชิงคุณค่าที่ต้องการถือหุ้นยาว ๆ เพื่อให้พอร์ตเติบโตไปพร้อมกับบริษัท จึงจำเป็นหาเครื่องมือทางเทคนิคมาชี้จุดออกและทำกำไรซ้ำ ๆ ได้หลายครั้ง จนกว่าราคาของหุ้นที่ดูว่าถูกจะปรับกลายเป็นหุ้นที่พบกับจุดคุ้มทุนหรือหุ้นราคาแพง
Bollinger Bands คือ เครื่องมือทางเทคนิคที่ช่วยเก็งกำไรใน CFD ซึ่งเหมาะกับการวิเคราะห์ร่วมกับ P/E โดยประกอบด้วยเส้นกราฟสองเส้นที่สร้างขึ้นจาก Simple Moving Avarage (SMA) ที่คำนวณจากค่าเฉลี่ยการเคลื่อนที่ของราคาพื้นฐานย้อนหลัง 20 แท่งเทียน และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานที่คูณด้วยค่าเส้นกรอบ S.D. ซึ่งโดยปกติจะใช้ 2 (เท่า) เรื่อง S.D. นี้เป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณทางสถิติ การกำหนด 2 เท่า ทำให้ตีเส้น S.D. ได้สองเส้น แต่ละเส้นแสดงการแกว่งขึ้นและลงของราคาจากค่ากลาง (ความผันผวนของราคาต่ำสุดและสูงสุด)
Bollinger Bands ใช้วัดค่าผันผวนของราคา โดยคุณจะต้องมองหาค่าที่แกว่งอยู่ในช่วงกลางคือ Middle Band ซึ่งคือตอนที่เส้น S.D. ทั้งสองเส้นที่ขนาบบนล่างเส้น SMA อยู่ใกล้เส้น SMA ซึ่งขณะที่หุ้นผ่านการพิจารณาด้วยค่า P/E มีราคาปรับขึ้นเรื่อย ๆ จะมีจุดที่เวลาดู แท่งเทียนจะพุ่งไปจนทะลุเส้น S.D. ที่อยู่ด้านบน นั่นเรียกว่า Upper Band ให้ชิงขายทำกำไร และรอจนราคาหุ้นตกลงมาต่ำอีกครั้งจึงช้อนซื้อใหม่ และรอคอยรูปแบบเดียวกันใน Bolloinger Bands ซ้ำ ๆ เพื่อทำกำไรไปเรื่อย ๆ
ปัจจัยที่มีผลต่อ P/E
1. ปริมาณหุ้นสำหรับถือครองถูกจำกัด (Limited Floating Stock)
Floating Stock คือหุ้นที่บริษัทออกให้แก่สาธารณชนสำหรับนักลงทุนให้เทรดซื้อขายกันได้ในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะนับเฉพาะมูลค่าหุ้นจดทะเบียนที่ชำระแล้ว โดยหักลบหุ้นที่จะให้เมื่อบรรลุเงื่อนไขตามที่กำหนด (Restricted Share) ซึ่งอาจเป็นเพียงหน่วยหุ้นที่ทำการจดทะเบียนไว้เพื่อรอจัดสรรซึ่งสาธารณชนเข้าไม่ถึง หรือจัดสรรแล้วแต่ผู้ครอบครองไม่สามารถขายได้ในเวลาที่กำหนด เช่น หุ้นที่จัดสรรให้กับพนักงานเพื่อตอบแทนการทำงานกับบริษัทมายาวนาน โดยปกติแล้วจะไม่อนุญาตให้พนักงานขายได้หากไม่ต้องการลาออกหรือถึงเวลาเกษียณอายุ โดยพนักงานที่ครอบครองอยู่สามารถรับเงินปันผลจากหุ้นแทนการรับโบนัสประจำปีจากบริษัท
ขณะที่ปริมาณหุ้นสำหรับถือครอง สามารถนำมาคำนวณหา Earning Per Share หรือกำไรสุทธิของบริษัทต่อหุ้น (ที่ได้รับการคาดหวังว่าบริษัทจะชำระตอบแทนผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล) ซึ่ง EPS เมื่อนำไปเทียบกับราคาหุ้น ทำให้ตีความว่าหุ้นถูกหรือแพง แต่ความสำคัญของปริมาณหุ้นยังเกี่ยวข้องกับความผันผวนของราคา ซึ่งมีผลที่มองข้ามไม่ได้ไปยัง P/E ด้วย
ถ้าหากหักลบปริมาณหุ้น Restricted Share ออก หุ้นที่เหลืออยู่ และเป็น Free Float เหลือน้อย ก็ยิ่งเป็นผลทำให้ราคามีโอกาสผันผวนสูง โดยหุ้น Free Float คือหุ้นที่ผู้ถือครองเป็นนักลงทุนทั่วไป ไม่ใช่ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร และผู้ถือหุ้นเพื่อเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจ
ทั้งนี้ ปริมาณหุ้นที่เป็น Free Float มีผลต่อการผันผวนของราคาหุ้น สรุปได้ดังนี้
- Free Float มีสัดส่วนต่ำ การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะถูกควบคุมโดยนักลงทุนรายใหญ่ ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งมีผลให้มีโอกาสที่ราคาจะเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนทิศทางไปมาอย่างหวือหวา
- Free Float มีสัดส่วนสูง การผันผวนขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาตอบสนองของนักลงทุนต่อสภาวะของตลาด ในระยะยาว ราคาของหุ้นจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท ผันผวนตามสภาวะตลาดคือตามโอกาส ไม่ผันผวนจากการเก็งกำไร ทำให้การพิจารณาเลือกหุ้นด้วยค่า P/E มีน้ำหนัก
2. ได้รับอิทธิพลจากความคาดหวังของนักลงทุน
ราคาของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ถูกกำหนดด้วยอุปสงค์และอุปทาน มีทั้งผู้เสนอซื้อและขาย โดยผู้ซื้อจะมีทั้งคนที่หวังเก็งกำไรจากความต่างของราคาและกลุ่มที่ต้องการเงินปันผล โดยกลุ่มที่หวังเงินปันผลมักจะถือหุ้นเป็นระยะเวลายาวนาน ขณะที่ราคาหุ้นจะมีการเคลื่อนไหวบ่อยครั้งและผันผวนจากกลุ่มที่หวังทำกำไรจากความแตกต่างของราคาซะมากกว่า
พื้นฐานของราคา คือมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น นักลงทุนคาดหวังอยู่แล้วที่จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำคือส่วนแบ่งผลกำไรของบริษัท ดังนั้นหากพบว่าตนจะได้เงินปันผลน้อยลงหรืออนาคตกำไรของบริษัทจะหดหายหรือบริษัทประสบกับปัญหาในตลาดและอยู่ในความเสี่ยงต่าง ๆ ก็จะเป็นผลให้มูลค่าถูกตีให้ต่ำลง และราคาที่เสนอซื้อในตลาดก็จะต่ำลงไปด้วย โดยฝ่ายขายหุ้นให้กับราคาที่ต่ำอาจจะเพราะต้องการเงินใช้ฉุกเฉินไปจนถึงเป็นเพราะความกลัวว่าระดับราคาจะต่ำลงไปอีก จึงรีบขายเสียตั้งแต่จุดที่ตนเองยังรู้สึกว่ามีกำไรอยู่บ้าง
นอกจากนี้ อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ในตลาดมีข่าวมากมายทั้งเรื่องการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย การวิจัยและพัฒนา หรือการให้ความร่วมมือกับภาครัฐหรือเอกชนร่วมกันในการทำบางอย่าง ข่าวต่าง ๆ ของบริษัทอาจจะทำให้ผู้คนคิดไปถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้น และกำไรของบริษัทที่จะตามมา หรือการเติบโตในระยะยาว ซึ่งสามารถเป็นผลทำให้ราคาขยับขึ้นเช่นกัน
ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น ถ้าหากเพิ่มขึ้นเหนือกว่าระดับ EPS หลายเท่าตัว ก็จะทำให้หุ้นนั้นจัดว่ามีราคาแพง หรือเป็นนัยยะว่าความคาดหวังของผู้คนสูงเกินไป ซึ่งการซื้อหุ้นในจังหวะที่หุ้นแพงนี้อาจจะเป็นผลเสียได้ เพราะราคาในระยะยาวอาจจะตกลงมา ขณะที่ราคาหุ้นที่ต่ำจนเมื่อเทียบกับ EPS แล้วรู้สึกว่าถูก ส่วนมากจะเพราะว่าความคาดหวังของนักลงทุนยังไม่สูงมาก หรือนักลงทุนยังมีข้อมูลตัดสินใจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะบริษัทใหม่ในตลาด หรือบริษัทที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายภายในเป็นผลสำเร็จ ดังนั้นคนที่ได้หุ้นไปก่อนในตอนที่ถูก จะพบว่าถ้านักลงทุนรายอื่นสังเกตเห็นหุ้นตัวเดียวกัน ราคาก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามระดับความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้น
ข้อจำกัดในการใช้ P/E Ratio
แน่นอนว่า ของทุกอย่างย่อมต้องมีข้อจำกัด ซึ่งข้อจำกัดของ P/E คือ หากเรามองเพียงตัวเลขเดี่ยว ๆ ที่คำนวณออกมาได้ เราจะถูกตัวเลขบดบังความจริง เพราะการคำนวณ P/E Ratio เพราะเป็นแค่การเทียบมูลค่าที่นักลงทุนต้องจ่ายกับผลตอบแทนที่จะได้รับ ขณะที่การพิจารณาว่า เราควรที่จะลงทุนในหุ้น (บริษัท) นี้หรือไม่ คุณต้องไม่ลืมพิจารณาทั้งในแง่ของความสามารถในการทำกำไร ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร โครงสร้างหนี้ และสภาพคล่องมาประกอบกันเพื่อตัดสิน
ดังนั้น ค่า P/E Ratio ที่เท่าไรถึงจะเหมาะสม คุณต้องพิจารณาดังนี้
- นำผลคำนวณ P/E Ratio ไปเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า และกับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยอาจจะใช้ตัวเลข P/E เฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้นเพื่อกำหนดว่าหุ้นที่ดูจัดอยู่ในกลุ่มถูกหรือแพงโดยการเปรียบเทียบ เพิ่มน้ำหนักในการใช้ P/E ในการตัดสินใจ
- พิจารณาร่วมกันระหว่าง “7 อัตราส่วนทางการเงิน” ที่สามารตรวจสอบได้จากงบการเงินเปิดเผย ที่บริษัททุกแห่งต้องนำส่งราชการทุก ๆ ปี ได้แก่
- P/E: (ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้)
- P/BV: ราคาตลาดของหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น มักเหมาะกับกิจการหรืออุตสาหกรรมที่มีปริมาณทรัพย์สินถาวรค่อนข้างมาก สามารถตรวจสอบได้จากงบการเงิน
- Dividend Yield: เปอร์เซ็นต์ของเงินปันผลต่อหุ้น หากตัวเลขมาก ย่อมหมายความว่านักลงทุนได้รับปันผลสูง ซึ่งควรดูต่อด้วยว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ปีนั้นจ่ายปันผลได้มากน้อยเท่านั้น
- Turnover Ratio: แสดงอัตราหมุนเวียนการซื้อขาย หมายความว่าหุ้นนั้นเป็นที่นิยมของตลาดหรือไม่ หากมีมาก ย่อมส่งผลต่อสภาพคล่องของการแลกเปลี่ยนหุ้นเป็นเงินสดได้ไว
- ROA: อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ หมายความว่า ยิ่งมีค่ามากเท่าไร นั่นหมายถึงว่าบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เพื่อสร้างมูลค่าได้มากเท่านั้น
- Net Profit Margin: อัตราส่วนกำไรสุทธิ หมายถึง ความสามารถของบริษัทที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าคุ้มต้นทุนเพื่อสร้างผลกำไรกลับคืนสู่องค์กร (และเป็นปันผลสำหรับผู้ถือหุ้นและนักลงทุน) ยิ่งมีค่ามาก ยิ่งแสดงถึงศักยภาพ
- ROE: อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น หมายถึง ค่าที่แสดงศักยภาพการบริหารของผู้ถือหุ้นหรือนายทุน ยิ่งมีค่ามาก ยิ่งน่าสนใจ นั่นหมายถึงความสามารถในการสร้างผลกำไรกลับคืนมา
- สัดส่วนทางการเงิน คำนวณจากตัวเลขในงบการเงินที่จุดระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นจึงถือเป็นข้อมูลในอดีต (เช่น ปีที่แล้ว สองปีที่แล้ว เป็นต้น) ในขณะที่คนใช้ค่า P/E Ratio เพื่อลงมือกระทำ เหมือนกับหาแนวโน้ม ซึ่งอาจจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากคาดหวังจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัทกะทันหัน ทั้งการเพิ่มทุนจากการกู้ยืม การระดมทุนจากการออกหุ้นเพิ่ม ฯลฯ
- ตลาดสามารถมีผลทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น แต่ความคาดหวังของคนที่สูงเกินไปอาจทำให้ราคาทะยานสูงขึ้นจนหุ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่แพง กล่าวคือหากบริษัทเติบโตจากยอดขาย จะทำให้หุ้นดูถูกลงได้เพราะ EPS เพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันข่าวของบริษัทอาจจะทำให้ความคาดหวังของนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้น และราคาสามารถพุ่งทะยานไปมากกว่า ทำให้ P/E ชี้ว่าหุ้นแพง หรือมีความคลุมเครือจนตัดสินใจเมื่อเปรียบเทียบดูค่าระหว่างปีในระยะยาว
ดูค่า P/E ที่ไหน
ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ค่า P/E สามารถคำนวณออกมาเอง หรือนักลงทุนสามารถนำค่าตัวเลขมาจากงบการเงิน โดยแต่ละบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ล้วนต้องนำส่งให้กับตลาดหลักทรัพย์ เป็นระเบียบที่ทำกันทั่วโลก อ้างอิงตามมาตรฐานรายงานทางการเงินระดับนานาชาติ (International Financial Standard, IFRS) เพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและโปร่งใสเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุน
งบการเงินของบริษัทสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ ในส่วนหรือหน้าของนักลงทุนสัมพันธ์ หรือถ้าเป็นบริษัทในต่างประเทศ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ให้มองหาหน้าแบบฟอร์ม 10-K
นอกจากนี้เว็บไซต์เอกชนต่าง ๆ เช่น Yahoo Finance, MarketWatch, Morningstar เป็นต้น ล้วนให้ข้อมูล P/E ของบริษัทชื่อดังในต่างประเทศหลายแห่ง
บทส่งท้าย
P/E Ratio คือหนึ่งในเจ็ดปัจจัยพื้นฐานการเลือกสรรหุ้นเพื่อการลงทุน หรือเทรดหรือ CFD ของหุ้น อ้างอิงความเข้าใจทางบัญชีและการเงินเบื้องต้น และนำตัวเลขมาเขียนเป็นสัดส่วนเพื่อเปรียบเทียบ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ จะคัดกรองด่านแรกด้วยการหาค่า P/E Ratio และตามต่อด้วยการประเมินปัจจัยแวดล้อม และการเปรียบเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรม